วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ต.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 27 พ.ย. 2565
นายกรัฐมนตรีแสดงความยินดีในโอกาสการครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน โดยย้ำความมุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข การวิจัยและพัฒนาวัคซีน รวมทั้งความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยใช้เทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเสริมสร้างการฟื้นฟูที่เข้มแข็งและยั่งยืน ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ ๒๔
เมื่อวันที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๖๔ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ ๒๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยที่ประชุมฯ แสดงความยินดีในโอกาสครบรอบ ๓๐ ปี ความสัมพันธ์อาเซียน-จีน และเห็นชอบให้จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนศกนี้ นอกจากนั้น ที่ประชุมฯ ได้หารือแนวทางเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดโควิด-๑๙ ระลอกใหม่ รวมถึงปัญหาความท้าทายอื่น ๆ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชนและความเจริญรุ่งเรืองของภูมิภาคโดยรวม
นายกรัฐมนตรีแจ้งต่อที่ประชุมว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-๑๙ ในไทยกำลังกลับสู่ภาวะปกติ และเน้นย้ำความจำเป็นของความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ และนำไปสู่อนาคตที่มั่นคงร่วมกัน โดยในด้านความมั่นคงทางสุขภาพ นายกรัฐมนตรีย้ำความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนและยาต้านไวรัสที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การเสริมทักษะของบุคลากรทางการแพทย์ การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อมทางสาธารณสุขสำหรับวิกฤตการณ์ในอนาคต
ด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเน้นการยึดมั่นในระบบการค้าพหุภาคีที่เสรีและเปิดกว้าง การมุ่งสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทาน และการเร่งให้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคเพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว รวมทั้งย้ำว่าการใช้เทคโนโลยีและเศรษฐกิจดิจิทัลเป็นกุญแจสำคัญในการประกอบธุรกิจและการพัฒนาศักยภาพของ MSMEs สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการท้องถิ่น ตลอดจนการดำรงชีวิตตามวิถีปกติใหม่ อีกทั้งการฟื้นฟูการเดินทางที่ปลอดภัยของประชาชน รวมถึงนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว และนักศึกษา
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียินดีต่อการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้ปีแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน ๒๕๖๔-๒๕๖๕ รวมทั้งแสวงหาความร่วมมือตามโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ตลอดจนย้ำบทบาทของไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานของอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูและการเติบโตอย่างครอบคลุม
ที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการล่าสุดในภูมิภาค รวมถึงสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ โดยนายกรัฐมนตรีย้ำบทบาทที่สร้างสรรค์ของไทยในการส่งเสริมความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย อาทิ การปกป้องสิ่งแวดล้อมทางทะเล และย้ำเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของไทยในการสานต่อการเจรจาจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (COC) ที่มีประสิทธิภาพ มีเนื้อหาที่ครอบคลุม และสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ
ที่ประชุมฯ รับรองเอกสาร ๒ ฉบับ ได้แก่ (๑) ถ้อยแถลงร่วมอาเซียน-จีน ว่าด้วยความร่วมมือในการสนับสนุนกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน และ (๒) ถ้อยแถลงร่วมอาเซียน-จีน ว่าด้วยการเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(ข่าวสารนิเทศนี้ปรากฏในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยสามารถเข้าถึงได้ที่ https://www.mfa.go.th/th/content/aseanchina26102564?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b)
รูปภาพประกอบ