วันที่นำเข้าข้อมูล 28 ต.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 24 พ.ย. 2565
เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๔ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก ครั้งที่ ๑๖ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมี
สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไนฯ ทรงเป็นองค์ประธาน และมีผู้นำหรือผู้แทนประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก รวมทั้งเลขาธิการอาเซียน เข้าร่วม โดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) และผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย
ที่ประชุมฯ แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการรับมือกับประเด็นท้าทายร่วมกัน โดยเฉพาะโควิด-๑๙ และการเตรียมความพร้อมสำหรับวิกฤตการณ์อื่น ๆ ในอนาคต โดยย้ำความจำเป็นที่ทุกประเทศจะต้องร่วมมือกันเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม และส่งเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในการนี้ ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) บรรยายสรุปสถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลก พัฒนาการล่าสุดของการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ตลอดจนวิธีการรับมือกับภัยคุกคามด้านสาธารณสุขในอนาคต และผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ส่งเสริมการเปิดตลาด และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าสินค้าและการบริการ ตลอดจนการเคลื่อนย้ายแรงงานและการลงทุน เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลกอย่างรวดเร็วและยั่งยืน
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ เน้นย้ำความสำคัญของกรอบการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกในฐานะที่เป็นเวทีหารือประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ในระดับผู้นำ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์และพัฒนาการล่าสุดในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ โดยคำนึงถึงแนวโน้มของการแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความไม่แน่นอนในภูมิภาค โดยที่ประชุมฯ สนับสนุนความเป็นแกนกลางของอาเซียนและเห็นพ้องถึงความจำเป็นที่ต้องเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีส่งเสริมให้ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกทุกประเทศเป็นผู้นำแห่งความเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ โดยนำศักยภาพ จุดแข็ง และความเป็นเลิศที่หลากหลาย ไปบริหารจัดการความท้าทายร่วมกันให้สำเร็จลุล่วง ในขณะที่ประเทศไทยไทยกำลังก้าวไปสู่ “ความปกติถัดไป” ด้วยการ “พลิกโฉมประเทศไทย”
นายกรัฐมนตรีได้เน้นความร่วมมือในด้านพัฒนาขีดความสามารถด้านสาธารณสุขการฟื้นฟูเศรษฐกิจผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล การเสริมสร้างความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานและฟื้นฟูการเดินทางของประชาชนและการท่องเที่ยว ตลอดจนเสนอให้ใช้โมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือบีซีจีเพื่อ
ส่งเสริมความยั่งยืนในทุกมิติ
ที่ประชุมฯ รับรองเอกสารผลลัพธ์ ๓ ฉบับ ได้แก่ (๑) ถ้อยแถลงผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขภาพจิต (๒) ถ้อยแถลงผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านการฟื้นฟูการท่องเที่ยวซึ่งไทยร่วมอุปถัมภ์ และ (๓) ถ้อยแถลงผู้นำการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกว่าด้วยการฟื้นฟูที่ยั่งยืน
(ข่าวสารนิเทศนี้ปรากฏในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยสามารถเข้าถึงได้ที่ https://www.mfa.go.th/th/content/pm-joined-eas?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b)