สิ่งดีดีที่อาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ RCEP (ตอนที่ 1)

สิ่งดีดีที่อาจยังไม่รู้เกี่ยวกับ RCEP (ตอนที่ 1)

วันที่นำเข้าข้อมูล 21 ม.ค. 2565

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 1,140 view

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือที่รู้จักกันจากตัวย่อภาษาอังกฤษว่า RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศภาคีความตกลง 15 ประเทศรวมทั้งไทย เริ่มมีผลใช้บังคับสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันที่
1 มกราคม 2565 หลังจากที่ใช้เวลากว่า 8 ปี ในการเจรจา ปัจจุบัน ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรี
ที่ใหญ่ที่สุดของโลก ครอบคลุมประชากรและกลุ่มประเทศที่มี GDP รวมกันราวหนึ่งในสามของโลก แน่นอนว่า ความตกลงดังกล่าวย่อมจะช่วยให้ภูมิภาคของเราที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มาอย่าง
หนักหน่วง สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น สำหรับไทย ปริมาณการค้าของเรากว่าครึ่งหนึ่งพึ่งพาตลาดขนาดใหญ่ของประเทศภาคีความตกลง RCEP ไทยจึงได้ประโยชน์จาก RECP โดยตรง โดยเฉพาะโอกาสในการเข้าสู่ตลาดและการจ้างงานของภาคธุรกิจและประชาชนในภูมิภาค ทั้งนี้ ผลการศึกษาของ ดร.วิศาล บุปผเวส มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI[1] คาดว่า GDP ของไทยจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4 จากการเข้าร่วม RCEP

นอกเหนือจากการเปิดตลาดให้ผู้ประกอบการไทยสามารถค้าขายและลงทุนได้กว้างขวางมากขึ้นแล้ว RCEP ยังมี
สิ่งดีดีอีกหลายอย่างที่หลายคนอาจยังไม่รู้ เช่น การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองทรัพย์สิน
ทางปัญญา การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs และการกำหนดมาตรฐานของการจัดซื้อ
จัดจ้างภาครัฐ

การส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

บทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายใต้ RCEP มีเป้าหมายหลักในการปรับกฎเกณฑ์ด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์
ของประเทศภาคีความตกลงให้สอดคล้องกัน เพื่อส่งเสริมการใช้พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนให้มากขึ้น
โดยครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์และลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลออนไลน์ การป้องกันการส่งข้อความอิเล็กทรอนิกส์เชิงพาณิชย์ที่ไม่พึงประสงค์ นอกจากนี้ ยังระบุ
ด้วยว่า ประเทศภาคีความตกลง RCEP จะไม่จัดเก็บอากรศุลกากรสำหรับการส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนระหว่างกัน ซึ่งสอดคล้องกับแผนการทำงานเรื่องพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ขององค์การการค้าโลก หรือ WTO

การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

ความตกลงการค้าเสรียุคใหม่มักครอบคลุมการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในการค้าระหว่างประเทศซึ่งกำลังทวีมูลค่าสูงมากในปัจจุบัน บทที่ว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ RCEP กำหนดการคุ้มครองดังกล่าวในระดับสูง โดยให้มีการคุ้มครองและเยียวยาทางกฎหมายที่เพียงพอต่อการปกป้องเจ้าของผลงานจากการถูกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนกระบวนการและโทษทางอาญาสำหรับการทำซ้ำซึ่งงานภาพยนตร์ในขนาด
เชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาต

เหล่านี้เป็นเพียงสิ่งดีดีบางส่วนที่คัดมาเล่าสู่กันฟังเท่านั้น โดยในตอนหน้า จะกล่าวถึงสิ่งดีดีของความตกลง RCEP ในด้านการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และการกำหนดมาตรฐานของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งเชื่อหรือไม่ว่า สำคัญมาก ๆ ในการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

[1] บทความ “RCEP โอกาสหรือกับดักของประเทศไทย? กับ ดร.วิศาล บุปผเวส” เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 19 ธ.ค. 2555 ทางเว็บไซต์ https://thaipublica.org/2012/12/rcep-chance-trap/

เนื้อหาบางส่วนของบทความสรุปจากการเข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อ “Unlocking RCEP for Business” ที่จัดโดยสำนักเลขาธิการอาเซียนและสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก ขอขอบคุณท่าน อทป.ฤทัยชนก จริงจิตร นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่เสาเศรษฐกิจอาเซียน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ที่กรุณาสนับสนุนข้อมูล

ผู้เรียบเรียง: นายจุลฉัตร กาญจนโอฬารศิริ
เลขานุการเอก คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

Photo Courtesy: https://asean2019.go.th/