อาเซียน-เอฟตา และการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่านความร่วมมือ

อาเซียน-เอฟตา และการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่านความร่วมมือ

วันที่นำเข้าข้อมูล 25 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 25 เม.ย. 2566

| 6,785 view

การก่อตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) มีเป้าหมายหลักเพื่อรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจซึ่งจะทำให้อาเซียนกลายเป็นภูมิภาคที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง มีขีดความสามารถในการแข่งขัน และมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจ ซึ่งในการดำเนินการสู่เป้าหมายดังกล่าว อาเซียนได้จัดทำแผนงานการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 (AEC Blueprint 2015) สำหรับการดำเนินการเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้ โดย AEC ได้เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 และภายหลังการจัดตั้ง AEC การรวมกลุ่มของอาเซียนก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 27 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ผู้นำอาเซียนได้ให้การรับรองแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2025 (AEC Blueprint 2025) ซึ่งเป็นแผนงานฉบับปัจจุบันที่กำหนดทิศทางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนในระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2559 - 2568) โดยอาเซียนมีเป้าหมายที่จะรวมตัวกันมากขึ้นทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก หนึ่งในองค์ประกอบหลักของ AEC Blueprint 2025 คือการดำเนินการเพื่อให้อาเซียนเป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก (A Global ASEAN) ซึ่งครอบคลุมถึงการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก[1] ดังนั้นการพัฒนาความสัมพันธ์กับนานาประเทศ รวมทั้งกลุ่มประเทศอย่างเอฟตา จึงเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินการตามแผนงานฉบับปัจจุบันของอาเซียนเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายร่วมกันตามที่กำหนดไว้

สมาคมการค้าเสรียุโรป

สมาคมการค้าเสรียุโรป หรือ เอฟตา (European Free Trade Association: EFTA) เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2503 ซึ่งเดิมมี ๗ ประเทศเป็นผู้ก่อตั้งคือ ออสเตรีย เดนมาร์ก นอร์เวย์ โปรตุเกส สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร โดยวัตถุประสงค์หลักในการก่อตั้งเอฟตาคือเพื่อส่งเสริมการค้าเสรีและการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกในรูปแบบของตลาดเดียว (Single Market) ทั้งนี้ ในปัจจุบันเอฟตามีสมาชิก ๔ ประเทศคือ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีอนุสัญญาเอฟตา (EFTA Convention) เป็นหลักเกณฑ์ที่กำหนดความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศสมาชิกในรูปแบบของการค้าเสรี และมีความตกลงเขตเศรษฐกิจยุโรป (Agreement on the European Economic Area) ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปกับ ๓ ประเทศสมาชิกของเอฟตาคือ ไอซ์แลนด์ ลิกเตนสไตน์ และoอร์เวย์ ในขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ได้มีการทำ ความตกลงทวิภาคีกับสหภาพยุโรป (EU-Swiss bilateral agreements) แยกอีกส่วนหนึ่ง นอกจากนั้นในปัจจุบันเอฟตายังได้มีการขยายขอบเขตภารกิจออกไปให้ครอบคลุมถึงการพัฒนาเครือข่ายของความตกลงการค้าเสรีระหว่างเอฟตากับนานาประเทศอีกด้วย โดยในปัจจุบันเอฟตามีความตกลงการค้าเสรีจำนวน ๒๙ ฉบับ กับ ๔๐ ประเทศที่นอกเหนือจากสหภาพยุโรป[2]

ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเอฟตา

ในขณะที่เอฟตามีสมาชิกจำนวน ๔ ประเทศและมีภารกิจที่มุ่งเน้นในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น ปัจจุบันอาเซียนมีสมาชิก ๑๐ ประเทศ[3] และมีขอบเขตภารกิจที่กว้างกว่าเพียงแค่มิติเศรษฐกิจในส่วนของ AEC โดยครอบคลุม ๓ เสาหลักคือ เศรษฐกิจ การเมืองความมั่นคง รวมทั้งสังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงระดับของความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับเอฟตา พบว่า ปัจจุบันเอฟตายังไม่ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศคู่เจรจาของอาเซียน[4] อย่างไรก็ดี มีสมาชิกของเอฟตา ๒ ประเทศคือ สวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ ซึ่งปัจจุบันเป็นประเทศคู่เจรจาเฉพาะสาขาของอาเซียน และได้มีการทำความร่วมมือด้านเทคนิคกับทั้ง ๓ เสาของประชาคมอาเซียนในบางสาขาที่มีความสนใจร่วมกัน อาทิ ในมิติของเสาเศรษฐกิจ ปัจจุบันนอร์เวย์ได้มีการทำความร่วมมือกับอาเซียนในสาขาการค้าการลงทุน การพัฒนาผู้ประกอบการภาคเอกชนโดยครอบคลุมถึงวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม อาหาร เกษตรกรรม และป่าไม้[5] ในขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ได้ระบุสาขาความร่วมมือเช่นเดียวกับของนอร์เวย์ และได้กำหนดเพิ่มเติมในส่วนของสาขาการท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ดิจิทัล รวมทั้งพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์[6]

การยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับเอฟตา

นอกจากความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับ ๒ ประเทศสมาชิกของเอฟตาในระดับทวิภาคีแล้ว ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ เอฟตายังได้เสนอให้อาเซียนพิจารณาเรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจโดยการจัดทำความร่วมมือในรูปแบบปฏิญญาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ (Joint Declaration on Economic Cooperation: JDC) ระหว่างอาเซียนกับเอฟตา ซึ่ง JDC ดังกล่าวจะเป็นกรอบแนวทางสำหรับการดำเนินความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันในภาพรวม ดังนั้นต่อมา สำนักเลขาธิการอาเซียนจึงได้ทำการศึกษาเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างเอฟตากับอาเซียนตามที่ฝ่ายเอฟตาเสนอ[7] ซึ่งในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน (Senior Economic Officials Meeting: SEOM) ครั้งที่ ๑/๕๐ เมื่อปี ๒๕๖๒ ที่ประชุมได้พิจารณาผลการศึกษาดังกล่าวและมีมติที่จะเริ่มหารือเรื่องการจัดทำ JDC ภายหลังการสรุปผลความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นการเจรจาหลักที่ต้องมุ่งให้ความสำคัญในขณะนั้น หลังจากเจรจา RCEP สำเร็จเรียบร้อยแล้ว เอฟตาและอาเซียนจึงได้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อจัดทำร่าง JDC และในปัจจุบัน SEOM ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เศรษฐกิจประจำการที่คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา (Economic Official: EO) เป็นผู้ดำเนินการเรื่องการจัดทำร่าง JDC กับเอฟตา ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปร่าง JDC ได้ภายในช่วงครึ่งแรกของปี ๒๕๖๖ ทั้งนี้ การคัดเลือกสาขาความร่วมมือในร่าง JDC ได้พิจารณาจากประเด็นหลักในความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลกที่ทั้งสองฝ่ายเป็นสมาชิกและต้องการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น รวมทั้งการขยายความร่วมมือในสาขาที่มีความสำคัญต่อการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนระหว่างกัน อาทิ การพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยเปิดกว้างให้สามารถระบุสาขาเพิ่มเติมได้หากทั้งสองฝ่ายเห็นชอบ ตลอดจนครอบคลุมเรื่องการเสริมสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมการจัดทำความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่าย

จุดแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกเอฟตา

การศึกษาของสำนักเลขาธิการอาเซียนข้างต้น[8] กล่าวว่า เศรษฐกิจของเอฟตาในภาพรวมอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก รวมทั้งในมิติอื่นๆ ทั้งในด้านขีดความสามารถในการแข่งขัน อัตรารายได้ต่อหัว อายุขัย และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเอฟตามีประเทศ คู่ค้าหลักคือสหภาพยุโรป โดยหากพิจารณาในรายประเทศพบว่าลิกเตนสไตน์และสวิตเซอร์แลนด์มีจุดแข็งในสาขาการเงิน เทคโนโลยีชีวภาพ เครื่องจักรที่ทันสมัย และเภสัชกรรม ส่วนไอซ์แลนด์และนอร์เวย์มีจุดแข็งในสาขาที่ทั้ง ๒ ประเทศมีทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก อาทิ พลังงานหมุนเวียน การทำประมง และธุรกิจบริการ อาทิ การขนส่งทางเรือ โดยมีรายละเอียดของแต่ละประเทศดังนี้

ลิกเตนสไตน์เป็นประเทศขนาดเล็กที่ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมากนัก แต่เศรษฐกิจของลิกเตนสไตน์ซึ่งเป็นระบบเปิดมีการพัฒนาอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในสาขาบริการทางการเงิน และลิกเตนสไตน์เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อประชากรสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมจำนวนมากเป็นกลไกหลักในภาคธุรกิจบริการ รวมทั้งมีกฎระเบียบที่เอื้ออำนวยต่อการประกอบธุรกิจ ส่วนในมิติของอุตสาหกรรม ลิกเตนสไตน์มีจุดแข็งในสาขาอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เงินทุนสูงและเครื่องจักรที่ทันสมัย รวมทั้งสินค้าเทคโนโลยีที่ต้องมีการวิจัยและพัฒนา

สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีรายได้ต่อประชากรสูงมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยรายได้ส่วนใหญ่ของประเทศมาจากธุรกิจบริการ โดยเฉพาะการเงินและการท่องเที่ยว ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม นอกจากนั้นสวิตเซอร์แลนด์ยังมีอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในยุโรป และมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาในปริมาณสูง โดยเงินลงทุนส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน

ไอซ์แลนด์มีรายได้หลักมาจากธุรกิจบริการที่ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งที่สำคัญคือธุรกิจการท่องเที่ยว ในมิติของอุตสาหกรรม มีสาขาหลักคือ การผลิต การก่อสร้าง การประมง และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภค สินค้าส่งออกไม่หลากหลายมากนัก โดยไอซ์แลนด์ให้ความสำคัญกับกลุ่มสินค้าที่มาจากทรัพยากรธรรมชาติของประเทศเป็นหลัก อาทิ สัตว์น้ำ และพลังงาน  โดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจ

นอร์เวย์เป็นประเทศที่มีอุตสากรรมค่อนข้างหลากหลาย โดยเป็นเศรษฐกิจรูปแบบเปิดซึ่งมีอุปสรรคทางการค้าน้อย ธุรกิจบริการเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อเศรษฐกิจนอร์เวย์ โดยเฉพาะธุรกิจการค้าทั้งในรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก ตลอดจนการธนาคาร ประกันภัย วิศวกรรม การขนส่งทางน้ำ การสื่อสาร และการให้บริการของภาครัฐ ทั้งนี้ การส่งออกส่วนใหญ่มีรายได้มาจากสินค้าในภาคพลังงาน ทั้งการส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ โดยนอร์เวย์นับเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายสำคัญของโลก

บทสรุปและประโยชน์ที่จะได้รับจากการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจอาเซียน-เอฟตา

หากพิจารณาถึงจุดแข็งในธุรกิจบริการและอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ ของเอฟตา สามารถสรุปได้ว่า การจัดทำ JDC เพื่อเป็นกรอบในการดำเนินความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับเอฟตานับว่าเป็นโอกาสของอาเซียนที่จะขยายความร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคและยกระดับขีดความสามารถของอาเซียนในสาขาที่เอฟตามีศักยภาพสูงในปัจจุบัน อาทิ พลังงานหมุนเวียน การวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีชีวภาพ การธนาคาร ประกันภัย และการขนส่งทางทะเล รวมทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีความเข้มแข็ง เป็นต้น

ทั้งนี้ การจัดทำความร่วมมือในรูปแบบของ JDC นับว่าเป็นการดำเนินการที่มีความเหมาะสมและมีประโยชน์ในการยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับเอฟตาในภาพรวม นอกเหนือจากปัจจุบันซึ่งมีเพียงสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ที่ได้มีการทำความร่วมมือแบบทวิภาคีในบางสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน โดยคาดว่าหลังจากจัดทำ JDC ระหว่างอาเซียนกับเอฟตาได้สำเร็จ ก็ยังจะสามารถดำเนินความร่วมมือในแบบทวิภาคีควบคู่กันไปด้วยได้ ซึ่ง JDC จะเป็นกลไกหลักที่ใช้ในการดำเนินความร่วมมือระหว่างกันในภาพรวม และจะเป็นช่องทางสำคัญในการแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ รวมทั้งความรู้ ในมิติที่เอฟตามีความเชี่ยวชาญ ตลอดจนการวิจัยและพัฒนาในสาขาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทันสมัย เป็นต้น ทั้งนี้ ในส่วนของไทย การดำเนินความร่วมมือกับเอฟตาซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้ารวมทั้งมีความโดดเด่นทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ

นอกจากนั้นความสำเร็จในการจัดทำ JDC เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ยังจะสามารถเป็นพื้นฐานสำหรับใช้ต่อยอดจากการมุ่งเน้นทำความร่วมมือไปสู่การจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอาเซียนกับเอฟตาต่อไปได้ ซึ่งปัจจุบัน เอฟตามี FTA ในระดับทวิภาคีอยู่แล้วกับ ๓ ประเทศสมาชิกอาเซียนคือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งยังอยู่ระหว่างดำเนินการเจรจาจัดทำ FTA กับ ๒ ประเทศสมาชิกอาเซียนคือ ไทยและเวียดนาม[9] ดังนั้นจึงอาจพิจารณาได้ว่าครึ่งหนึ่งของประเทศสมาชิกอาเซียนมีประสบการณ์ในการจัดทำ FTA กับเอฟตาแล้ว การเจรจาจัดทำ FTA ในระดับภูมิภาคอาเซียนจึงสามารถต่อยอดจากการทำความร่วมมือภายใต้ JDC รวมทั้ง FTA ในระดับทวิภาคีต่อไปได้ หากทั้งสองฝ่ายมีความสนใจที่จะยกระดับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไปอีกระดับในอนาคต

 

ฤทัยชนก จริงจิตร

ผู้อำนวยการส่วนเศรษฐกิจภายใต้คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่เสาเศรษฐกิจอาเซียน Minister Counsellor (AEC)

เมษายน ๒๕๖๖

 

เอกสารอ้างอิง

ASEAN Secretariat (2015), AEC Blueprint 2025, Jakarta

ASEAN Secretariat (2019), Internal Assessment on the European Free Trade Area Association (EFTA)’s Request for Closer Cooperation

https://asean.org/our-communities/asean-political-security-community/outward-looking-community/external-relations/overview/

https://asean.org/wp-content/uploads/ASEAN-Norway-PCA-2021-2025-adopted-24-March-2021.pdf

https://asean.org/wp-content/uploads/2022/07/ASEAN-Switzerland-PCA-2022-2026-Final.pdf

www.efta.int/about-efta/european-free-trade-association

www.efta.int/free-trade/free-trade-agreements

 

[1] ข้อมูลจาก ASEAN Secretariat (2015), AEC Blueprint 2025, Jakarta

[2] ข้อมูลจาก www.efta.int/about-efta/european-free-trade-association

[3]  โดยมีติมอร์-เลสเตที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อเข้าร่วมเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ของอาเซียน

[4] ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับประเทศต่างๆ สามารถแบ่งออกได้เป็น ๓ กลุ่มหลักคือ ประเทศคู่เจรจา ๑๐ ประเทศ (ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา สาธารณรัฐเกาหลี อินเดีย จีน รัสเซีย) และ 1 องค์กรระหว่างประเทศ คือ สหภาพยุโรป) ประเทศคู่เจรจาเฉพาะสาขา ๖ ประเทศ (บราซิล ปากีสถาน นอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์ ตุรเคีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) และประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ๔ ประเทศ (ชิลี ฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี) ซึ่งประเทศคู่เจรจานับเป็นกลุ่มที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและครอบคลุมที่สุดกับอาเซียน รองลงมาคือประเทศคู่เจรจาเฉพาะสาขา และประเทศหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา ตามลำดับ (ข้อมูลจาก https://asean.org/our-communities/asean-political-security-community/outward-looking-community/external-relations/overview/)

[5] ข้อมูลจาก https://asean.org/wp-content/uploads/ASEAN-Norway-PCA-2021-2025-adopted-24-March-2021.pdf

[6] ข้อมูลจาก https://asean.org/wp-content/uploads/2022/07/ASEAN-Switzerland-PCA-2022-2026-Final.pdf

[7] ข้อมูลจาก ASEAN Secretariat (2019), Internal Assessment on the European Free Trade Area Association (EFTA)’s Request for Closer Cooperation

[8] ข้อมูลจาก ASEAN Secretariat (2019), Internal Assessment on the European Free Trade Area Association (EFTA)’s Request for Closer Cooperation

[9] ข้อมูลจาก www.efta.int/free-trade/free-trade-agreements

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ

ข่าวใกล้เคียง

ข่าวใกล้เคียง