ขอแสดงความยินดีกับผู้สมัครสตรีของไทยที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ

ขอแสดงความยินดีกับผู้สมัครสตรีของไทยที่ได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศของสหประชาชาติ

วันที่นำเข้าข้อมูล 15 พ.ย. 2564

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565

| 439 view

เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 76 ณ นครนิวยอร์ก ซึ่งประกอบด้วยรัฐสมาชิก 193 ประเทศ ได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ ดร. วิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย เป็นหนึ่งใน 34 ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law Commission – ILC) วาระปี 2566-2570 โดย ดร. วิลาวรรณฯ เป็นผู้สมัครสตรีคนแรกของไทย ผู้สมัครสตรีคนเดียวจากภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และนักกฎหมายระหว่างประเทศสตรีคนแรกของอาเซียนที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว

การได้รับเลือกตั้งของ ดร. วิลาวรรณฯ ให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ด้วยคะแนนเสียงสูงถึง 162 เสียง เป็นอันดับสองของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก) เป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทของไทยในการสนับสนุนระบบพหุภาคีที่อยู่บนพื้นฐานของหลักนิติธรรมและความร่วมมือระหว่างประเทศ และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการยอมรับในสถานะและบทบาทของไทยในเวทีโลก ความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยกับรัฐสมาชิกต่าง ๆ ของสหประชาชาติ และความรู้ความสามารถในทางกฎหมายระหว่างประเทศของผู้สมัครของไทย

ในฐานะสมาชิกคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ ดร. วิลาวรรณฯ จะผลักดันการประมวลแนวปฏิบัติในการจัดทำสนธิสัญญาในยุคดิจิทัล การพัฒนาหลักกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อรับมือกับผลกระทบของการเพิ่มสูงขึ้นของน้ำทะเล การพัฒนาหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด และการกำหนดบรรทัดฐานในการตีความมาตรฐานการปฏิบัติอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมในกฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งประเด็นข้างต้นล้วนเป็นความท้าทายและข้อห่วงกังวลของไทยและประชาคมระหว่างประเทศ การมีหลักกฎหมายและแนวปฏิบัติที่สร้างความชัดเจนในประเด็นดังกล่าวจึงมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ดร. วิลาวรรณฯ ประสงค์ให้คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศทำงานอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นกับรัฐสมาชิกสหประชาชาติ เพื่อที่คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศจะได้รับทราบแนวปฏิบัติและความเห็นของรัฐสมาชิก เพื่อให้ผลงานของคณะกรรมาธิการฯ สามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

การเลือกตั้งครั้งนี้ยังมีผู้สมัครสตรีอีก 4 คน ได้รับเลือกตั้ง ได้แก่ ผู้สมัครของเคนยา โปรตุเกส ตุรกี และนิวซีแลนด์ จากผู้สมัครสตรีทั้งหมด 8 คน ซึ่งเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ตลอด 74 ปีที่ผ่านมา มีสมาชิกสตรีเพียง 7 คน การเพิ่มบทบาทของสตรีในคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศจะช่วยให้การทำงานของคณะกรรมาธิการฯ ในการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะในการพัฒนาและประมวลกฎหมายระหว่างประเทศมีมุมมองที่หลากหลายและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น

ผู้สมัครที่ได้รับเลือกตั้งทั้งหมด 34 คน ได้แก่ ผู้สมัครของโกตดิวัวร์ อียิปต์ เซียร์ราลีโอน อัลจีเรีย สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เคนยา โมร็อกโก เซเนกัล บูร์กินาฟาโซ ญี่ปุ่น จีน สาธารณรัฐเกาหลี ไทย ไซปรัส เวียดนาม อินเดีย มองโกเลีย โรมาเนีย ลัตเวีย รัสเซีย นิการากัว บราซิล ชิลี อาร์เจนตินา เปรู เอกวาดอร์ สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ ฝรั่งเศส โปรตุเกส อิตาลี ตุรกี ออสเตรีย และนิวซีแลนด์

คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2490 เพื่อสนับสนุนการทำงานของสมัชชาสหประชาชาติในการริเริ่มการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะสำหรับการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศและการประมวลกฎหมายระหว่างประเทศตามข้อ 13 (1) (เอ) ของกฎบัตรสหประชาชาติ ประกอบด้วยสมาชิก 34 คน จาก 5 กลุ่มภูมิภาค โดยมีวาระ 5 ปี

(ข่าวสารนิเทศจากเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ)

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ