วันที่นำเข้าข้อมูล 29 ต.ค. 2564
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
นายกรัฐมนตรีร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ย้ำให้กรอบความร่วมมืออาเซียนบวกสามเป็นกลไกเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค สนับสนุนการใช้ประโยชน์เศรษฐกิจดิจิทัล พัฒนาศักยภาพ MSMEs และสตาร์ทอัพ พร้อมชื่นชมจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ในการสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือโควิด-๑๙
เมื่อวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๔ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ ๒๔ ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำจุดแข็งและบทบาทของกรอบอาเซียนบวกสามในฐานะกรอบความร่วมมือหลักสำหรับเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาค และเสนอแนวทางในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ประชาคมเอเชียตะวันออกที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งรวมถึงความมั่นคงด้านสาธารณสุข ความมั่นคงด้านเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การเสริมสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ และการส่งเสริมสันติภาพที่ยั่งยืนบนคาบสุมทรเกาหลี
ในด้านความมั่นคงด้านสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมความร่วมมือและการตอบสนองอย่างทันท่วงทีของประเทศบวกสาม ในการสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโควิด-๑๙ และการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ที่จำเป็นให้แก่อาเซียน รวมทั้งเน้นย้ำการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมของภูมิภาคสำหรับภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในอนาคต โดยเฉพาะด้านวัคซีน การวิจัยและพัฒนา และความจำเป็นของการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นและเด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ในโอกาสนี้ ที่ประชุมฯ ได้รับรองแถลงการณ์ผู้น้าอาเซียนบวกสามว่าด้วยความร่วมมือด้านสุขภาพจิตของวัยรุ่นและเด็ก (ASEAN Plus Three Leaders’ Statement on Cooperation on Mental Health Amongst Adolescents and Young Children) ซึ่งไทยพร้อมดำเนินการตามแถลงการณ์ดังกล่าวให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม
ในด้านความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำความจำเป็นของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่รวดเร็วและยั่งยืน โดยการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตในระยะยาว โดยเสนอให้อาเซียนบวกสามพัฒนาและใช้ประโยชน์จากกลไกความร่วมมือที่มีอยู่แล้วอย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ มาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุภาคี (Chiang Mai Initiative Multilateralisation: CMIM) เพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงินการคลัง และองค์กรสำรองข้าวฉุกเฉินของอาเซียนบวกสาม (ASEAN Plus Three Emergency Rice Reserve: APTERR) เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งเสนอให้แสวงหาความร่วมมือระดับภูมิภาคในการเสริมสร้างการสอดประสานนโยบายและยุทธศาสตร์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของประเทศบวกสามกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG
นายกรัฐมนตรียังเน้นย้ำความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่การบูรณาการทางเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการสานต่อข้อริเริ่มการเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ความเชื่อมโยงเพื่อเสริมสร้างความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อในระดับภูมิภาค และการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจและเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย สตาร์ทอัพ และผู้ประกอบการท้องถิ่น ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก
ในประเด็นระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ของไทยในการสนับสนุนกระบวนการแก้ปัญหาอย่างสันติบนคาบสมุทรเกาหลี และมุ่งหวังที่จะเห็นความคืบหน้าในการหารือ อันจะนำไปสู่สันติภาพที่ยั่งยืนบนคาบสมุทรเกาหลี
(ข่าวสารนิเทศนี้ปรากฏในเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศของไทย โดยสามารถเข้าถึงได้ที่ https://www.mfa.go.th/th/content/apt-24?cate=5d5bcb4e15e39c306000683b)
รูปภาพประกอบ