วันที่นำเข้าข้อมูล 31 ม.ค. 2565
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 29 พ.ย. 2565
บทความตอนที่แล้วกล่าวถึงเนื้อหาของความตกลง RCEP ในด้านการส่งเสริมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา นับว่า RCEP เป็นความตกลงที่ทันสมัยอย่างยิ่ง ทุกวันนี้ การทำงานจากบ้าน ความง่ายในการผลิตเนื้อหาลงสื่อสังคมออนไลน์หรือแพลตฟอร์มต่าง ๆ บนโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้ทั้งสองเรื่องข้างต้นมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ
ในขณะเดียวกัน ก็มีอีกสองเรื่องที่สำคัญต่อการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ และจะขอเล่าให้ฟังว่า RCEP ช่วยส่งเสริมประเด็นเหล่านี้อย่างไรบ้าง
การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงวิสาหกิจรายย่อย ช่วยขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ การจ้างงาน และนวัตกรรม และเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 อย่างมาก ดังนั้น ประเทศภาคีความตกลง RCEP จึงกำหนดให้ส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มีช่องทางการสื่อสารที่เข้าถึงได้ ให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายและกฎระเบียบทางการค้าและการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงข้อมูลทางธุรกิจอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของ SMEs ให้สามารถเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่มูลค่า (Global Value Chains) ในเรื่องนี้ อาเซียนค่อนข้างได้เปรียบ เพราะปัจจุบันมีกลไกในอาเซียนที่ช่วยสนับสนุน SMEs ให้สามารถใช้ประโยชน์จาก RCEP ได้ อาทิ ASEAN Trade Repository ซึ่งเป็นคลังข้อมูลทางการค้าที่สำคัญของภูมิภาค ASEAN SMEs Academy ซึ่งเป็นช่องทางสำหรับเข้าถึงการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของ SMEs
การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐช่วยส่งเสริมการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเพื่อการเติบโตและพัฒนาร่วมกันอย่างยั่งยืน แต่ที่ผ่านมา ความตกลงการค้าเสรีที่อาเซียนทำกับประเทศต่าง ๆ ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ โดยที่ประเทศภาคีความตกลง RCEP ตระหนักว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส เป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาค ความตกลง RCEP จึงระบุให้มีการจัดทำกฎระเบียบเป็นภาษาอังกฤษและเผยแพร่ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลกฎระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค
จะเห็นได้ว่า ความตกลง RCEP เป็นความตกลงที่ทำขึ้นให้ทันสมัย ครอบคลุม มีคุณภาพสูง เพื่อให้ประเทศภาคีได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ RCEP สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของสำนักเลขาธิการ RCEP (www.rcepsec.org) และเว็บไซต์ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (www.dtn.go.th)
เนื้อหาบางส่วนของบทความสรุปจากการเข้าร่วมการสัมมนาในหัวข้อ “Unlocking RCEP for Business” ที่จัดโดยสำนักเลขาธิการอาเซียนและสภาธุรกิจเอเชียตะวันออก ขอขอบคุณท่าน อทป.ฤทัยชนก จริงจิตร นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่เสาเศรษฐกิจอาเซียน คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา ที่กรุณาสนับสนุนข้อมูล
ผู้เรียบเรียง: นายจุลฉัตร กาญจนโอฬารศิริ
เลขานุการเอก คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา
Photo Courtesy: https://asean2019.go.th/
รูปภาพประกอบ