ความแตกต่างที่สร้างเสริมกันของภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียนปี ๒๕๖๖

ความแตกต่างที่สร้างเสริมกันของภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาเศรษฐกิจอาเซียนปี ๒๕๖๖

วันที่นำเข้าข้อมูล 30 เม.ย. 2566

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 3 ม.ค. 2567

| 887 view

ประเด็น PEDs ที่อินโดนีเซียผลักดันในฐานะประธานอาเซียนในปี ๒๕๖๖

จากภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจการค้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อนานาประเทศ รวมทั้งภูมิภาคอาเซียนที่ต้องพึ่งพาการค้าเป็นสำคัญ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนในปีนี้จึงประกาศแนวคิด “ASEAN Matters: Epicentrum of Growth” ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยพิจารณาครอบคลุมถึงการเติบโตอย่างยั่งยืน ความมั่นคงทางอาหารและพลังงาน รวมทั้งการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภูมิภาคโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของ Priority Economic Deliverables (PEDs) ที่อินโดนีเซียเสนอในปี ๒๕๖๖ โดยมีจำนวนทั้งสิ้น ๑๖ ประเด็น ภายใต้หัวข้อหลักใน ๓ ด้าน ดังนี้[1]

  1. ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนด้านที่ ๑: การฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Recovery and Rebuilding) จำนวน ๖ ประเด็น ได้แก่
    • การจัดทำกรอบการอำนวยความสะดวกด้านการบริการของอาเซียน
    • การส่งเสริมการฟื้นตัว ความมีเสถียรภาพ รวมทั้งความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและการเงิน
    • การจัดทำปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร
    • การลงนามพิธีสารฉบับที่ ๒ เพื่อแก้ไขความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์
    • การจัดตั้งหน่วยสนับสนุนความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา
    • การจัดทำกรอบการดำเนินโครงการพื้นฐานของอาเซียน (Project-Based-Initiatives)
  2. ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนด้านที่ ๒: เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) จำนวน ๕ ประเด็น ได้แก่
    • การใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form D) อย่างเต็มรูปแบบผ่านระบบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน
    • การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินที่ก้าวหน้าและส่งเสริมความสามารถทางการเงินดิจิทัลที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs)
    • การจัดทำแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการจัดทำความตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน
    • การจัดทำพื้นที่นำร่องด้านกฎระเบียบ (Regulatory Pilot Space) เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับส่งข้อมูลดิจิทัลข้ามพรมแดนสำหรับยานยนต์ไร้คนขับในอาเซียน
    • การจัดทำกรอบการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์สำหรับห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจดิจิทัลในพื้นที่ชนบทของอาเซียน
  3. ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนด้านที่ ๓: ความยั่งยืน (Sustainability) จำนวน ๕ ประเด็น ได้แก่
    • การจัดทำแผนงานการปรับมาตรฐานของอาเซียนให้สอดคล้องกันเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน[2]
    • การพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
    • การพัฒนากรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเลของอาเซียน
    • การส่งเสริมด้านการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวและการเงินที่ยั่งยืน
    • การจัดทำปฏิญญาว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืนโดยการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในภูมิภาค

ประเด็นเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนผลักดันในปี ๒๕๖๖ และโครงการหลัก

              นอกจากการเสนอ PEDs โดยภาครัฐของอินโดนีเซียแล้ว ในส่วนของภาคเอกชน สภาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) ซึ่งนำโดยอินโดนีเซียในปีนี้ก็ได้มีการเสนอประเด็นที่จะผลักดันในปี ๒๕๖๖ ภายใต้แนวคิด “ASEAN Centrality: Innovating Towards Greater Inclusivity” ซึ่งประกอบด้วย ๓ มิติหลัก ได้แก่ ความเป็นศูนย์กลางของอาเซียน การใช้นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาในภูมิภาค และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยมี ๕ ประเด็นนโยบายที่จะให้ความสำคัญคือ การพัฒนาด้านดิจิทัล (เทคโนโลยีด้านการเงินและพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) การพัฒนาที่ยั่งยืน การรับมือความท้าทายด้านสาธารณสุข ความมั่นคงทางอาหาร และการอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมทั้งจะให้ความสำคัญการดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเชื่อมโยงในภูมิภาคตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน (MPAC) พ.ศ. 2568 ซึ่งครอบคลุมหลักการ ๓ ด้านคือ การให้ความสำคัญกับกฎระเบียบ การสร้างความเชื่อมโยงทางโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นอกจากนั้น ASEAN-BAC นำเสนอ ๗ โครงการที่จะมีการดำเนินการในปีนี้ ภายใต้ ๔ ประเด็นนโยบายที่จะให้ความสำคัญข้างต้น[3] ดังนี้[4]

  1. การพัฒนาด้านดิจิทัลประกอบด้วย ๓ โครงการ ได้แก่
    • โครงการ ASEAN QR Code เป็นการจัดทำ QR Code ในระดับอาเซียนเพื่อส่งเสริมระบบการจ่ายเงินแบบดิจิทัลระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคอาเซียน ซึ่งปัจจุบันมีเพียงการดำเนินการในระดับทวิภาคี อาทิ ระหว่างไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ เป็นต้น
    • โครงการ Fintech/P2P เป็นการจัดทำแพลตฟอร์มแบบ Peer-to-Peer Lending เพื่อส่งเสริมการจับคู่ธุรกิจระหว่างนักลงทุนกับผู้ที่จะขอรับสินเชื่อสำหรับการประกอบการหรือขยายธุรกิจ
    • โครงการ Wiki Entrepreneur ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาคือการจัดทำแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบครบวงจร ณ จุดเดียวสำหรับผู้ประกอบการ โดยครอบคลุมทั้งในด้านการฝึกอบรม การประกอบธุรกิจ และการขยายธุรกิจ (WikiLearn, Wiki Do, Wiki Scale) ไว้ในที่เดียวกัน
  2. การพัฒนาที่ยั่งยืนประกอบด้วย ๒ โครงการ ได้แก่
    • โครงการ ASEAN Net Zero Hub เป็นการส่งเสริมภาคเอกชนอาเซียนให้สามารถริเริ่มการดำเนินการเพื่อลดปริมาณคาร์บอนให้เหลือศูนย์โดยการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น
    • โครงการ Carbon Center for Excellence ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยการจัดทำแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมกิจกรรมด้านการค้าคาร์บอนของภาคธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมทั้งในมิติของการเผยแพร่ความรู้และการปฏิบัติจริง
  3. การรับมือความท้าทายด้านสาธารณสุขประกอบด้วย ๑ โครงการ ได้แก่ โครงการ ASEAN One Shot Campaign ซึ่งเป็นการจัดทำความร่วมมือระหว่างผู้นำในภาครัฐ เอกชน และองค์กรระหว่างประเทศด้านสาธารณสุข ในการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพภายในอาเซียนสำหรับการรับมือกับโรคระบาด
  4. ความมั่นคงทางอาหารประกอบด้วย ๑ โครงการ ได้แก่ โครงการ Inclusive Closed-Loop Model for Agriculture Products ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ แต่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยและ MSMEs ในอาเซียนให้สามารถเข้าถึงปัจจัยด้านการเงิน ความรู้ เทคโนโลยี และตลาด

มิติที่มีความสอดคล้องกัน

จากการพิจารณาวิเคราะห์เปรียบเทียบข้อเสนอ PEDs กับประเด็นที่ ASEAN-BAC จะดำเนินการในปีนี้ พบว่า  มีความสอดคล้องกันใน ๔ มิติหลัก ได้แก่ การมุ่งเน้นเรื่องการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค     การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งให้การความสำคัญกับ MSMEs

โดยเศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นยุทธศาสตร์การขับเคลื่อน ๒ ใน ๓ ด้านหลักของ PEDs และเป็น ๒ ใน ๕ นโยบายหลักของ ASEAN-BAC ซึ่งสะท้อนว่า ๒ ประเด็นดังกล่าวเป็นมิติที่ทั้งภาครัฐและเอกชนมีการให้ความสำคัญอย่างชัดเจนในปีนี้ โดยมีความสอดคล้องกับแนวโน้มของโลกที่เศรษฐกิจดิจิทัลกำลังทวีบทบาทและความสำคัญ รวมทั้งนานาประเทศก็หันมาให้ความสนใจกับแนวคิดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในการส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยเฉพาะในประเด็นเศรษฐกิจสีเขียวและการลดปริมาณคาร์บอน

สำหรับในด้านการยกระดับความมั่นคงทางอาหาร ถึงแม้จะไม่ได้มีการกำหนดเป็นยุทธศาสตร์หรือนโยบาย แต่ก็มีการระบุการดำเนินการทั้งภายใต้ PEDs และโครงการที่ ASEAN-BAC จะดำเนินการในปีนี้ นอกจากนั้น ทั้ง PEDs และการดำเนินการของ ASEAN-BAC ก็กำหนดเรื่องการให้ความสำคัญกับการสนับสนุนกลุ่ม MSMEs ในภูมิภาค นอกเหนือจากธุรกิจรายใหญ่

ความแตกต่างในด้านการดำเนินการ

ทั้งนี้ หากพิจารณาในรายละเอียดของการดำเนินการพบว่า PEDs และประเด็นที่ ASEAN-BAC จะดำเนินการในปีนี้มีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะในด้านการแปลงยุทธศาสตร์/นโยบายไปสู่การปฏิบัติ     ASEAN-BAC ได้นำเสนอโครงการที่แตกต่างจาก PEDs ทั้งในด้านการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล และการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็น ๒ ยุทธศาสตร์/นโยบายหลักในทั้ง ๒ กลุ่ม

ในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล PEDs ครอบคลุมเรื่องการใช้ e-Form D ระบบการชำระเงินที่ก้าวหน้าและส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม การจัดทำแถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการจัดทำ   ความตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียนและกรอบการดำเนินงานด้านโลจิสติกส์สำหรับห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจดิจิทัลในชนบท รวมทั้งการรับส่งข้อมูลดิจิทัลข้ามพรมแดนสำหรับยานยนต์ไร้คนขับ ในขณะที่ภาคเอกชนมีโครงการ ASEAN QR Code การจัดทำแพลตฟอร์ม Peer-to-Peer Lending และแพลตฟอร์มดิจิทัลแบบครบวงจร ณ จุดเดียวสำหรับผู้ประกอบการ

ในด้านความยั่งยืน PEDs ครอบคลุมเรื่องการปรับมาตรฐานของอาเซียนให้สอดคล้องกันเพื่อดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การพัฒนาระบบนิเวศสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า การส่งเสริมด้านการเงินเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียวและการเงินที่ยั่งยืน การจัดทำกรอบความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเลของอาเซียนและปฏิญญาว่าด้วยความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน ในขณะที่ภาคเอกชนมีโครงการที่ส่งเสริมด้านการลดปริมาณคาร์บอนให้เหลือศูนย์ และการจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับกิจกรรมด้านการค้าคาร์บอน

สำหรับประเด็นการยกระดับความมั่นคงทางอาหาร ภายใต้ PEDs มีมุมมองในภาพกว้างโดยระบุเรื่องการดำเนินการไปสู่การจัดทำปฏิญญาผู้นำอาเซียนว่าด้วยการเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่วน ASEAN-BAC เน้นการดำเนินการในทางปฏิบัติโดยจะจัดทำโครงการ Inclusive Closed-Loop Model for Agriculture Products เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารในภูมิภาค โดยสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้สามารถเข้าถึงปัจจัยทางด้านการเงิน ความรู้ เทคโนโลยี และตลาด

ในมิติของการให้ความสำคัญกับ MSMEs มุมมองของ ASEAN-BAC มุ่งเน้นเรื่องบทบาทของ MSMEs ซึ่งมีอยู่กว่า ๗๐ ล้านรายในอาเซียนต่อภาคเศรษฐกิจ โดยอธิบายว่า MSMEs เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการจ้างงานถึงร้อยละ ๘๕ และร้อยละ ๔๔.๘ ของรายได้ (GDP) ในอาเซียน[5] จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ ASEAN-BAC ต้องการให้ได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินงานเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในปีนี้ ส่วนภายใต้ PEDs ไม่ได้ระบุโดยตรงว่า MSMEs เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก แต่ก็กำหนดประเด็นการดำเนินงานใน ๒ ด้านที่สนับสนุน MSMEs ได้แก่ การเชื่อมโยงระบบการชำระเงินที่ก้าวหน้าและส่งเสริมความสามารถทางการเงินดิจิทัลที่จะสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างครอบคลุม โดยเฉพาะกลุ่ม MSMEs รวมทั้งกำหนดเรื่องการจัดทำกรอบการดำเนินงานด้าน    โลจิสติกส์สำหรับห่วงโซ่อุปทานเศรษฐกิจดิจิทัลในพื้นที่ชนบทของอาเซียน ซึ่งผู้ประกอบการในชนบทส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่ม MSMEs ดังนั้นจึงคาดว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ MSMEs ในชนบทได้รับประโยชน์

 

บทสรุป

สำหรับการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ รัฐบาลอินโดนีเซียได้เสนอแนวคิด “ASEAN Matters: Epicentrum of Growth” ซึ่งมุ่งเน้นเรื่องความเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากที่ประเทศต่างๆ ได้ประสบกับภาวะการชะลอตัวทางเศรษฐกิจการค้าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รวมทั้งได้เสนอ PEDs จำนวน ๑๖ ประเด็นซึ่งจะเป็นแนวทางการดำเนินการหลักภายใต้แนวคิดดังกล่าว และในมิติของภาคเอกชนก็ได้มีการกำหนดประเด็นนโยบายที่จะผลักดันในปี ๒๕๖๖ ซึ่งพบว่ามีความสอดคล้องกับ PEDs ใน ๔ มิติหลัก ได้แก่ การให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล การส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน การเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการให้ความสำคัญกับ MSMEs อย่างไรก็ดี ในส่วนของการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ASEAN-BAC ได้นำเสนอโครงการที่แตกต่างจาก PEDs ดังนั้นการดำเนินโครงการของ ASEAN-BAC ในส่วนของภาคเอกชนจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นประโยชน์ต่อการสนับสนุนแนวคิดภายใต้ PEDs ในลักษณะที่เป็นการดำเนินการในมิติที่แตกต่างออกไป แต่ก็สามารถส่งเสริมเป้าหมายเดียวกัน

 

 ฤทัยชนก จริงจิตร

ผู้อำนวยการส่วนเศรษฐกิจภายใต้คณะผู้แทนถาวรไทยประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา

ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่เสาเศรษฐกิจอาเซียน Minister Counsellor (AEC)

เมษายน ๒๕๖๖

 

เอกสารอ้างอิง

Coordinating Ministry for Economic Affairs, Republic of Indonesia (2023), Workbook: Indonesia’s Chairmanship of ASEAN 2023, ASEAN Economic Community

สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (๒๕๖๖) เอกสารประกอบการประชุมหารือระหว่างเจ้าหน้าที่เศรษฐกิจประจำการที่คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา (EO) กับสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

 

[1] ข้อมูลจาก Coordinating Ministry for Economic Affairs, Republic of Indonesia (2023), Workbook: Indonesia’s Chairmanship of ASEAN 2023, ASEAN Economic Community นำเสนอโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงประสานงานด้านเศรษฐกิจของอินโดนีเซีย ในงานเลี้ยงรับรองอาหารกลางวันเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๖ ณ โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งจะเสนอให้มีการรับรองในที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ ๒๙

[2] เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. ๒๐๓๐ ของสหประชาชาติ

[3] ไม่มีโครงการสำหรับนโยบายด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า

[4] จากการนำเสนอข้อมูลโดย ASEAN-BAC ในการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่เศรษฐกิจประจำการที่คณะผู้แทนถาวรประจำอาเซียน ณ กรุงจาการ์ตา (EO) กับ ASEAN-BAC เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

[5] จากการนำเสนอข้อมูลโดย ASEAN-BAC ในการประชุมระหว่าง EO กับ ASEAN-BAC เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

รูปภาพประกอบ

รูปภาพประกอบ